เกณฑ์ชี้วัดการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนได้พัฒนาขึ้น เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศปรับใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินระดับการพัฒนาเมือง รวมถึงนำแนวคิดและตัวชี้วัด ไปปรับใช้ในการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมเพื่อมุ่งสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในทิศทางที่เหมาะสม โดย อปท. และภาคีที่เข้าร่วมจะได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเมือง การศึกษาทำความเข้าใจเกณฑ์ชี้วัดจะช่วยให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ โครงการ หรือแนวทางการพัฒนาเมืองเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ รวมถึงเกิดประโยชน์และสร้างความพึงพอใจให้แก่ทุกกลุ่มสังคม เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และมีความทันสมัย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมโลก (Sustainable Developement Goals-17 SDGs) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580 สอดรับกับนโยบายและความจำเป็นที่ท้องถิ่นต้องดำเนินการตามภารกิจ เพื่อก้าวสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
มีชุดข้อมูลที่ครอบคลุม สามารถประเมินตนเอง และทราบระดับการพัฒนาเมือง การรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัดจะช่วยสะท้อนข้อมูลการพัฒนาเมือง เพื่อให้เห็นระดับการพัฒนาของท้องถิ่น จึงจำเป็นต้องมีการรวบรวมข้อมูลการจัดการเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในองค์ประกอบต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติเพื่อเป็นฐานข้อมูล (City Profile) ในการพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกับนโยบายและทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงการดำเนินงานใหม่ โดยนำมาตรวจสอบ ประเมินความก้าวหน้าเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลปีที่ผ่านมา
เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงานระหว่างฝ่าย กลุ่มงานต่างๆ ภายในองค์กร การรวบรวมข้อมูลตามตัวชี้วัด ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากทุกฝ่ายของ อปท. จึงต้องมีการประชุมวางแผนร่วมกันระหว่างฝ่าย กลุ่มงาน กองและสำนักต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำความเข้าใจตัวชี้วัดฯ การรวบรวมผลงาน และการประเมินผลการดำเนินงานใน 4 ด้าน ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน เมืองแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กรที่มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากขึ้น
มีเครือข่ายช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เมือง การดำเนินงาน “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” เป็นความร่วมมือทั้งของ อปท. และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จึงเป็นโอกาสที่ อปท. จะได้สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการเรียนรู้และดำเนินการร่วมกันเพื่อพัฒนาสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ช่วยขยายเครือข่ายการดำเนินงานให้กว้างขวางขึ้น มีแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงาน และเกิดเป็นชุมชนน่าอยู่
สนับสนุนให้การพัฒนาเมืองมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม แนวทางการดำเนินงานตามเกณฑ์ชี้วัดฯ จะช่วยให้การพัฒนาเมืองมีความก้าวหน้าและความทันสมัยสอดรับกับนโยบาย เป้าหมายการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ที่คำนึงถึงสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย รวมถึงทราบสถานการณ์ของเมืองในปัจจุบัน และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที มีการคำนึงถึงความยั่งยืนทางภูมินิเวศ ภูมิสังคม และภูมิวัฒนธรรม ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ประชาชนได้รับการตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของเมือง และมีการประเมินผลการพัฒนาเมืองอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ รูปแบบการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนมิได้มีเป้าหมายในการประกวดและให้รางวัล แต่ให้ความสำคัญต่อการนำแนวคิดและตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้น ไปปรับใช้ในการพัฒนาเมือง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการเมืองสู่ความน่าอยู่และมีสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน รวมถึงเผยแพร่ผลงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเมืองไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น ท้องถิ่นที่นำกรอบแนวคิดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนไปปรับใช้ จะได้รับประโยชน์ด้านต่างๆ หลายประการดังกล่าวข้างต้น ที่สำคัญสามารถกำหนดนโยบายและแนวทางการพัฒนาเมืองได้อย่างถูกต้องและทันสมัย นอกจากนี้ ท้องถิ่นควรศึกษาคู่มือการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนเพิ่มเติม (โดยสามารถ Download เอกสารผ่านเว็บไซด์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม www.deqp.go.th) เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นและสามารถนำไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ โครงการ กิจกรรมหรือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางการพัฒนาเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมและสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้อยู่อาศัยทุกกลุ่มในเมือง และยังเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ช่วยให้พัฒนาเมืองได้ก้าวทันต่อสถานการณ์ทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศและระดับสากลต่อไป